วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การตรวจแยกเพศนกเขาชวา

โดย Thanapat

เคยมีบางท่านได้ยินนกร้องหรือผิวลมมีเสียงและจังหวะ เพลงดีนึกว่าเป็นนกตัวผู้จับขึ้นกรงแข่งและนำมาฝึกรอกนานหลายเดือนนกก็ไม่ร้องจับตับสักที มาทราบภายหลังว่าเป็นนกตัวเมีย หรือการไปซื้อลูกนกมาเพาะเลี้ยงไม่ได้เพศตามที่ต้องการ ผิดเพศ ก็เพราะไม่มีการตรวจเช็คเพศให้แน่นอนก่อน จึงรวบรวมการตรวจแยกเพศนกเขาชวาพอเป็นสังเขป ดังนี้
การตรวจแบบสังเกตุ 
1.ขนาดของตัวนก ตัวผู้จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าตัวเมียโดยจะมีส่วนของลำคอยาว อกใหญ่ หัวโตกว่าและมีส่วนหน้าลาดเอียงกว่า ส่วนตัวเมียจะมีหัวเล็กและกลม
                                                                                                                                 
2.ขนาดของแข้ง ตัวผู้จะมีแข้งหนายาวกว่าตัวเมีย ส่วนของปลายนิ้วก้อยมีลักษณะโตเป็นปมเห็นได้ชัด ส่วนตัวเมียจะมีปลายนิ้วก้อยที่เรียวเสมอกัน
3.สีขน นกตัวผู้จะมีสีขนที่อ่อนกว่าตัวเมียโดยเฉพาะตรงส่วนหน้าของหัว(หน้าผาก)ที่เรียกว่าหมอก
4.ตะเกียบหรือกระดูกเชิงกรานของนกตัวเมียจะอ่อนบาง มีทั้งอ่อนข้างดียวหรือ2ข้าง ตะเกียบนกตัวเมียจะห่างออกเมื่อโตขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับออกไข่ ส่วนของตัวผู้จะมีตะเกียบที่หนาแข็ง ตามปกติจะชิด ที่ห่างก็มีบ้างแต่น้อย
5.เสียงร้องหรือขัน ตัวผู้จะมีเสียงก้องกังวานและจับตับมากกว่า ส่วนตัวเมียจะมีเสียงเล็กและเบา ขันน้อยกว่าไม่จับตับ
6.ตัวเมียมักยอมให้นกตัวอื่นขึ้นขี่หรือเหยียบหลัง ส่วนตัวผู้จะไม่ยอมแต่จะเป็นฝ่ายทำเสียเอง โดยตัวผู้จะมีนิ้วเท้าที่แข็งแรงใช้เกาะหลังนกตัวเมียส่วนตัวเมียจะอ่อนแรงกว่า
7.ตัวผู้จะแพนหางและผงกหัวเกี้ยวตัวเมีย เรียกว่าว้อ และทำเสียงกร็อดๆขู่เมื่อมีศัตรูเข้ามาใกล้ ส่วนตัวเมียก็มีบ้างแต่เสียงจะเบากว่า
8.การลูบหลังนก ตัวผู้จะแพนหางออก ส่วนตัวเมียจะไม่แพนหาง
9.เปิดดูทวาร ตัวผู้จะมีอวัยวะเพศเป็นติ่งซ้อนอยู่ภายในเมื่อสืบพันธ์จะยื่นออกมาเป็นเกลียวยาว ส่วนตัวเมียจะไม่มีแต่จะมีช่องอวัยวะ 2 ช่องคือช่องทวารหนักกับช่องสืบพันธ์และไข่ตามรูป


การตรวจแบบวิทยาศาสตร์
1.ตรวจหาดีเอ็นเอ และโครโมโซมที่แตกต่างกัน ด้วยการเก็บตัวอย่างเลือดไปทำการทดสอบในห้องแล็ป ซึ่งมีราคาแพงประมาณ 650บาทต่อตัว แต่ได้ผลที่แน่นอนเและยังสามารถตรวจว่ามาจากพ่อแม่ที่ต้องการอีกด้วย
2.ตรวจคลื่นแม่เหล็กบริเวณทวารหนัก ตัวผู้จะมีขั้วเหนืออยู่ ส่วนตัวเมียจะมีขั้วใต้ การตรวจจะใช้เข็มเย็บผ้ามาร้อยด้ายแล้วผูกแขวนไว้ นำก้นนกไปจ่อให้ทวารตรงกับปลายเข็มที่มีขั้วแม่เหล็กเหนืออยู่ หากดูดกันเข็มจะวนเข้าหาแสดงว่าเป็นนกตัวเมีย แต่ถ้าผลักออกเข็มจะแกว่งไปมาแสดงว่าเป็นตัวผู้ 
ขอให้ท่านเลือกใช้การแยกเพศนกแบบผสมผสาน หลายๆแบบมาพิจารณาควบคู่กันไป จะทำให้ท่านสามารถทราบได้ว่านกตัวนี้เป็นตัวผู้หรือตัวเมีย นิยมทำเมื่อลูกนกอายุ 5 วัน จับใส่ห่วงขาพร้อมบันทึกทำประวัติ   

แหล่งที่มา 

http://zebra-dove-for-competition.blogspot.com/2012/03/blog-post.html

ประวัติการเล่นนกเขาชวาในภาคใต้
      
สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ เสด็จพระราชทานถ้วยรางวัลพร้อมผ้าคลุมกรงแก่เจ้าของนกเขาชวาที่ชนะการแข่งขัน ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อ 22 กันยายน 2530
ที่มา : มัลลิกา คณานุรักษ์. 2531,ไม่ปรากฎเลขหน้า
การเล่นนกเขาชวาในสมัยก่อนทางภาคใต้นิยมกันก่อนในภาคอื่น แต่ต่อมาภายหลังเมื่อมีการเล่นนกเขาชวาแพร่หลายมากขึ้น ทำให้พ่อค้านกเขาในภาคกลาง พยายามหานกเขาพันธุ์ดีๆ มาขายทางภาคใต้ เล่ากันว่ามีชาวบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เคยนำนกเขาชวามาขายที่ภาคใต้ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2480 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2ครั้นถึงช่วงสงคราม ทำให้การซื้อขายหยุดชะงักชั่วคราว นกที่นำมาขายในภาคใต้สมัยนั้นเป็นนกเขาจากจังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี นกเขาจากสองจังหวัดนี้ ได้รับการยกย่องจากนักเลงนกเขารุ่นก่อนว่าเป็นนกพันธุ์ดี
   มีนักเลงนกเขาเล่าให้ฟังว่า ความจริงการเลี้ยงนกเขาชวาในภาคใต้
้นิยมกันมาก่อนหน้านั้นมาก เพราะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีนกเขาชวาเลี้ยงไว้ก่อน พ.ศ. 2430 แล้วจึงนำไปขายที่สี่จังหวัดชายแดน ภาคใต้ คือ สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
  ต่อมาการเลี้ยงนกเขาชวาได้ขยายวงกว้างมายังภาคต่างๆของไทย มายังที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี นครปฐม ชลบุรี 
จนถึงประมาณ 2489 ชาวอำเภอมีนบุรี และอำเภอหนองจอก ก็เริ่มนิยมเลี้ยงนกเขาชวา และนิยมต่อนกเขาชวา
คนเลี้ยงนกเขาชวาในอำเภอมีนบุรี และอำเภอหนองจอก เป็นคนไทยนับถือศาสนาอิสลาม จึงคุ้นเคยกับชาวไทยมุสลิม
ในภาคใต้เป็นอย่างดี เพราะนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน ทำให้การซื้อขายเป็นไปด้วยดี
    ส่วนทางจังหวัดชัยนาทและอุทัยธานี เริ่มนิยมเมื่อ พ.ศ. 2500 และในพ.ศ. 2503-2504 เริ่มนิยมที่จังหวัดนครสวรรค์ ครั้นถึง
พ.ศ. 2505 ขยายวงกว้างไปถึงจังหวัดตาก พิจิตร สระบุรี นครนายก
    การหานกเขาชวามาเลี้ยงเพื่อฟังเสียง หรือประกวดประชันกัน ในสมัยโบราณเป็นไปด้วยความลำบากอย่างยิ่ง เพราะต้องหานกเขาพันธุ์ดีจากป่าลึกของแหล่งนกเขาตามจังหวัด ที่ได้ชื่อว่าเป็นนกเขาพันธุ์ดี ด้วยการหานกมาต่อเพื่อให้ได้นกป่า
พันธุ์ดีมาเลี้ยง นอกจากนนี้ยังต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับนกป่าที่"ต่อ”มาได้ บางครั้งแม้จะใช้เวลาฝึกอยู่นาน แต่ก็ยังได้เสียงขัน
ไม่ดีสมใจ ก็ต้องปล่อยให้บินกลับไปป่าเหมือนเดิม
และตั้งหน้าตั้งตาต่อนกใหม่ต่อไป
  
ในสมัยโบราณถือว่าการเลี้ยงนกเขาชวาไว้ประจำบ้านเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตา เลี้ยงไว้ดูเล่นแก้รำคาญ และเลี้ยงไว้ฟังเสียงเพื่อความสุขใจ รวมทั้งคนในจังหวัดภาคใต้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยพุทธหรืออิสลามนิยมเลี้ยงนกเขาชวากันมาก โดยเฉพาะบ้านของผู้มีอันจะกิน มักจะต้องหานกเขาชวาเสียงดีๆมาเลี้ยงไว้ประดับบ้าน และส่วนใหญ่ก็จะเลี้ยงด้วยใจรักมากกว่าการค้า 
  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นกเขาชวาในภาคใต้มีราคาสูง ซึ่งเป็นราคาที่คนซื้อพยายามเสนอให้เจ้าของนกขาย มิใช่ราคาสูงด้วยเจ้าของนกตั้งราคาเอง เหมือนทางภาคกลาง แต่ปัจจุบันลักษณะการเลี้ยงนกเขาชวาบางแห่งในภาคใต้เริ่มมุ่งเพื่อการค้าแบบภาคกลางแล้ว
   คนที่มีนกเขาชวาดีอยู่ในครอบครองมักมีชื่อเสียง เป็นที่อยากรู้จักของนักเลงนกเขาทั่วไป มีหน้ามีตา  ดังนั้นผู้ที่มีนกเขาชวาดีในสมัยก่อน มักไม่ใคร่ยอมขายนกของตนให้ใครง่ายๆ เพราะเกิดความรักและหลงใหลเสียงนก อีกทั้งเกรงว่าจะเป็นการขายความมีชื่อของตนไปด้วย
  จังหวัดทางภาคใต้นิยมเลี้ยงนกเขาชวาโดยเฉพาะจังหวัดสงขลา ปัตตานี สตูล นครศรีธรรมราช ยะลา นราธิวาส ฯลฯ ทุกบ้านที่มีนกเขาชวาจะมีเสารอกนก และมีกรงนกเขาชวาแขวนไว้หน้าบ้านระเกะระกะไปหมด อย่างน้อยมากกว่าหนึ่งกรงเสมอ จนถึงกับมีเรื่องขำขันเกิดขึ้นในสมัยก่อนคือสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจราชการที่ภาคใต้ โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วพบว่าเกือบทุกบ้านตลอดระยะทางจากปัตตานีจนถึงนราธิวาส จะมีเสารอกนกเขาอยู่ตามบริเวณบ้านทั่วๆไป จึงคิดว่าเสาดังกล่าวเป็นเสาวิทยุ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ตามอำเภอและตำบลต่างๆ ท่านผู้นำของประเทศถึงกับกล่าวชมกับผู้ใกล้ชิดและผู้ติดตามว่า ทางใต้นี้เจริญมากจริงๆ มีวิทยุฟังกันทุกบ้าน ทั้งที่ความจริงมิใช่เสาวิทยุ หากแต่เป็นเสารอกนกเขานั่นเอง(มัลลิกา คณานุรักษ์. 2531,25-27)
การเลี้ยงนกเขาชวาในภาคใต้ปัจจุบันนิยมเลี้ยงกันอย่างจริงจังและเลี้ยงกันจนเป็นอาชีพทุกจังหวัด
มากน้อยตามความนิยมของคนไทยแต่ละจังหวัด  ทั้ง ๆ  ที่แหล่งนกเขาชวาพันธุ์ดีในสมัยก่อนอยู่ที่ภาคกลาง
แถวจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี
ีส่วนภาคใต้ที่เป็นแหล่งนกเขาชวาพันธุ์ดีก็มีที่จังหวัดกระบี่เพียงจังหวัดเดียวเท่านั้นซึ่งความจริงแล้ว
นกเขาชวาพันธุ์ดีจริง ๆ  อยู่ที่ชวา  ประเทศอินโดนีเซีย  ชื่อของ  “นก”  ก็บอกอยู่แล้ว  และจังหวัดกระบี่มีภูมิประเทศอยู่ใกล้ประเทศอินโดนีเซีย
                นกเขาพันธุ์ดีจะมีขอบตาเหลือง  และนกเขาลักษณะแบบนี้จะมีที่ประเทศอินโดนีเซียแห่งเดียวเท่านั้น  และจะมีอยู่บางท้องที่ในจังหวัดกระบี่ของประเทศไทย  ซึ่งปัจจุบันนกเขาชวาลักษณะแบบนี้หายากเต็มที
                การที่นกเขาชวาหรือเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า  “นกเขาเล็ก”  มีชื่อว่า  “นกเขาชวา”  นั้นมีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้  ๓  อย่างดังนี้
  1.  เป็นนกที่พบมากในชวา  ประเทศอินโดนีเซีย
  2. เสียงขันดังกังวานไพเราะคล้ายกับเสียงปี่ชวา
  3. แขกชวาเป็นผู้นำนกแบบนี้มาเลี้ยงในประเทศไทยเป็นคนแรก  จึงได้เรียกตามชื่อของผู้ที่นำมาเลี้ยง
ด้วยเหตุนี้คนในสมัยโบราณจนถึงปัจจุบันจึงได้เรียกนกเขาเล็กว่า  “นกเขาชวา”

แหล่งที่มา
http://download.clib.psu.ac.th/datawebclib/exhonline/nokkhao/page2.html

ตำราลักษณะ นกเขา ที่ควรเลี้ยง



ลักษณะนกที่ควรเลี้ยงในบ้าน (หนังสือพรหมชาติฉบับสมบูรณ์)

           นกเขาที่นักเล่นนกนิยมเลี้ยงกันมีเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ นกเขาใหญ่ กับนกเขาชวา ดังนั้น จึงใคร่ขอกล่าวถึงรูปพรรณลักษณะของนกเขาทั้งสองนี้โดยลำดับไปว่า ลักษณะอย่างไรให้คุณโทษอย่างไรบ้าง ดังต่อไปนี้ 

นกเขาใหญ่ 

            1. ถ้าแข้งสีแดงจัด และมีเล็บขาวสะอาด ท่านว่า เลี้ยงไว้ในบ้านเรือนสามารถป้องกันอัคคีภัยได้ดีนักแล 

            2. ถ้าสร้อยคอขาวคาดจุดดำจำนวนมาก ท่านว่า เป็นนกนำโชคมาให้เจ้าของจะทำให้ได้ลาภเงินทอง ของใช้จากคนอื่นเสมอ ๆ 

            3. ถ้าเกร็ดที่หน้าแข็งมีครบ 9 คู่ หรือ 18 เกร็ดเรียงสลับกันโดยลำดับท่านว่าดีปานกลาง 

            4. ถ้าเล็บดุด คือสลับกันเล็กบ้างใหญ่บ้างเหมือนแข้งไก่ชน ท่านว่าเป็นลักษณะของนกเขาที่ให้คุณ จะเป็นที่ยำเกรงของคนทั่วไป เจ้าของจะมีอำนาจวาสนามีบริวารมาก 

            5. ถ้าฟังเสียงร้องเสียงคู่สำเนียงฟังคล้ายกับว่า กรุก กรู ติดต่อกัน 3 ครั้ง 9 ครั้ง โดยไม่หยุดพักเลย ท่านว่าเป็นนกเขาค่าควรเมือง จะให้ลาภแก่เจ้าของทุกประการ ดีนักแล 

            6. ถ้าเสียงขันเสียงคู ออกสำเนียงคล้ายกับว่า กวัก กรู กวัก กรู หลาย ๆ ครั้ง ยิ่งครบ 5 หรือ 9 ครั้งยิ่งดี ท่านว่า เจ้าของและครอบครัวจะประสบโชคทางการเงินไหลมา เทามา ทรัพย์สินเนืองนอง ไม่อดอยากเลย คำคุณเจ้าของ และบริวารในครอบครัวดีนัก 

            7. ถ้าเสียงขันเสียงคู ฟังว่าคล้ายกับเสียงภาชนะแตก หรือคล้ายเสียงคนสะอึก หรือจาม ท่านว่า ไม่ดี ไม่ควรเลี้ยงไว้ ให้รีบปล่อยไปเสีย มิฉะนั้นจะนำความหายนะมาให้ในไม่ช้าแล 

            8. ถ้าเสียงขันเสียงคูฟังนิ่มนวลเป็นเสียงเดียวกัน และอ่อนหวานเวลาขันทำท่าคล้ายเอาศีรษะกวักเข้ามาด้วย ท่านว่าเป็นลักษณะวิเศษ จะนำโชคลาภเกียรติยศชื่อเสียงมาให้เจ้าของ และบริวารดีนักควรเอาเงินทองใส่ในภาชนะน้ำ ให้นกดังกล่าวดื่มกินเถิดจะได้ลาภภายใน 3 วัน 7 วันแน่แท้เลย 

            9. ถ้านกเขาใหญ่ตัวใด มีขนตรงหัวมีลวดลายคล้ายองค์พระพุทธรูป ที่ปีกมีลวดลายคล้ายตัวนะ กลางหลังมีคล้ายตัวโม ขนที่คอมีคล้ายตัว พุทกลางหลังมีคล้ายตัว ธา และที่หางมีคล้ายตัวยะ ริมขอบตามทั้ง 2 ข้าง มีคล้าย ขนอุณาโลม ท่านว่า นกเขาตัวนั้นหาค่ามิได้ ค่าควรเมืองยิ่งนัก ถ้าได้พบเห็นราคาเท่าไรก็ขอให้ซื้อมา แล้วทำกรงทาสีทองให้อยู่เถิด เจ้าของจะร่ำรวยภายใน 3 วัน 7 วัน จะทำราชการค้าขายหรือประกอบกิจการใด ๆ ท่านว่าเจริญก้าวหน้า มีกำไรทุกอย่าง ดีนักแล 

            10. ถ้านกเขาใหญ่ ตัวใด ขับคูออกเสียงเป็นจังหวะ "กรุก กรู ๆ ๆ เจ้าหัวกู ๆ ๆ กรู ๆ" ทำนองคล้ายกันนี้ ท่านว่านกตัวนั้นเป็นนกอุดมโชคเจ้าของจะทำมาค้าขึ้น ประกอบกิจการงานใด จะรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไปสารทิศใด ๆ จะมีคนอุปถัมภ์ค้ำชู ไม่อดอยากเลย ดีนักแล 

            11. ถ้าเวลาขันหรือคู นกตัวใดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ท่านว่า จะปกป้องภยันตรายให้กับเจ้าของมันดีนัก ศัตรูคิดปองร้ายมิได้เลย ดีนักแล 

            12. ถ้าเวลาขันหรือคู นกหันหน้าไปทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ ท่านว่าไม่ดี ไม่ควรเลี้ยงไว้ เพราะจะทำให้เจ้าของอับโชค สิ้นอำนาจ หมดวาสนาชะตาตก 

            13. ถ้านกเขาตัวใด มีขนคอปนจุดสีดำรอบคอ มองเห็นได้ชัดเจนดี ท่านว่านกตัวนั้นจะให้คุณ ถึงแม่ว่าเจ้าของจะยากจน ก็จะร่ำรวยในไม่ช้า จะมีลาภผลเกิดขึ้นมาโดยเร็ว อย่างประหลาดใจทีเดียว ค้าขายไม่น่าจะร่ำรวยก็ร่ำรวย เป็นข้าราชการก็จะได้ยศได้ขั้นเงินเดือนมากกว่าใคร ๆ ในรุ่นเดียวกันดีนักแล 

            14. ถ้านกเขาตัวใด เวลาขันหรือเวลาถ่ายมูล มีกลิ่นเหม็นท่านว่าเป็นนกอัปลักษณ์ อย่าได้เลี้ยงไว้ภายในบ้านเลยเด็ดขาด 

            15. ถ้านกตัวใดมีขนออกที่ริมฝีปากทั้งสองข้าง ท่านว่าเป็นนกนำลาภมาให้เลี้ยงไว้เถิดจะให้ผู้เลี้ยงประสบโชคดีเสมอ ๆ ดีนักแล 

            16. ถ้านกตัวใด กลางหลังมีลวดลายเส้นแมลงผีเสื้อ หรือหน้ายักษ์ ท่านว่า อย่าได้จับต้องหรือเลี้ยงนกตัวนั้นไว้เลย จะทำให้เสื่อมลาภเสื่อมยศทรัพย์สินภายในบ้านจะหายนะไม่ดีเลย 

            17. ถ้านกตัวใดมีหางสั้น และยังมีขนหางไม่ครบ 10 เส้น ท่านว่าเป็นนกขัดลาภอย่านำเลี้ยงไว้ในบ้านเลยไม่ดีเลย 

            18. ถ้านกตัวใดมีขนหรือลวดลายคล้ายนกกระจอก หรือมีขนหางสั้นกว่าลำตัวมันท่านว่า เป็นนกอัปลักษณ์ ชาติชั่วจัณฑาลไม่ดีเลย หากนำมาเลี้ยงไว้ในบ้านจะทำให้บริวารประพฤติผิดศีลธรรมเลย 

            19. ถ้านกตัวใดมีขนปีกสั้น ปกคลุมตัวไม่มิดชิด ท่านว่า เป็นนกอัปลักษณ์ จะนำความหายนะและความชั่วร้ายมาให้ ถ้าขืนเลี้ยงไว้เจ้าของจะต้องประสบอุบัติเหตุ เกิดจัญไรกับตัวและบริวาร ไม่ดีเลย 

            20. ถ้านกตัวใดริมฝีปากบน ล่าง เวลาปกติไม่แนบสนิทกัน ท่านว่า เป็นนกอัปลักษณ์ไม่ควรจะเลี้ยงไว้ เพราะจะทำให้เจ้าของสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง เป็นคดีความมีแต่ทางเสียเงินอย่างเดียว 


นกเขาชวา 

           1. ถ้านกเขาชวาตัวใดมีแข้งดำดุจสีนิล ท่านว่า เป็นนกนำลาภมาให้ ควรเลี้ยงไว้จะทำให้เจ้าของประสบความสุขความเจริญ ดีแล 

           2. ถ้าแข้งดำดุจนิลและเกร็ดแข้งคุดเหมือนไก่ชน ท่านว่า เจ้าของชนะศัตรูไม่เคย เจ็บไข้ ต้องโรคาพยาธิเลย ดีแล 

           3. นกตัวใดมีแข้งแดง ขนปีกดำสลับขาว ท้องหน้าดำ ท่านว่า เป็นนกเขาค่าควรเมืองคุ้มไฟ คุ้มอันตราย ให้เจ้าของได้ ดีนักแล 

           4. ถ้านกตัวใดริมขอบตาขาว นัยน์ตาดำสนิท ท่านว่า เป็นนกให้อำนาจวาสนาแก่เจ้าของแล 

           5. นกตัวใดแข้งมีเกร็ด 9 คู่ ท่านว่า เป็นนกนำโชคมาให้เจ้าของมั่งมีศรีสุข ดีนัก 

           6. นกตัวใดเป็นนกผสมระหว่างนกเขาเขียวกับนกเขาชวา มีปีกแซมขนเขียวกระเรียวงาม ท่านว่า เป็นนกป้องกันภยันตราย มีค่าควรเมือง ทำมาค้าขาย ดีนัก 

           7. นกตัวใดมีหางยาว โผล่ออกมาเส้นเดียว ท่านว่า เป็นนักนักการพนัน นกการค้า ใครเลี้ยงไว้จะมีลาภ ยศ ชื่อเสียง ดีนัก 

           8. นกตัวใดขันหรือคูมีเสียงคู่ กรุก กรู ๆ กรู-กรู ยาวถึง 3 ถึง 8 ครั้งติดต่อกัน ท่านว่า เป็นนกเจ้าพระยา ใครเลี้ยงไว้จะเจริญรุ่งเรือง มีความสุขปราศจากโรคาพยาธิดีนักแล 

           9. นกตัวใดขันเสียแตก ขันแล้วหยุด หยุดแล้วขันไม่เป็นเวลา ท่านว่าเป็นนกกาลี ไม่ควรเลี้ยงไว้ในบ้านเลย 

           10. นกตัวใดขันเป็นยาม เช่น ตอนเช้า ตอนเที่ยง และบ่าย ค่ำ ท่านว่า เป็นนกมหาเศรษฐี เสียงร้องจะนำโชคลาภมาให้เจ้าของเลี้ยงไวดีนักแล นอกจากนี้ ถ้านกเขาชวา มีลักษณะเข้าตำราตามแบบนกเขาใหญ่ ท่านว่าดีนัก ปราศจกโทษให้คุณอนันต์ดีนักแลฯ 

แหล่งที่มา

http://pet.kapook.com/view15467.html

เสียงของนก
        นกเขาชวา ไม่ใช่สัตว์ประเภทสวยงาม แต่คนนิยมเลี้ยง เนื่องจากเสียงร้องมีความไพเราะ น่าฟัง เมื่อได้ยินเสียงร้องของนกทำให้เกิดความสุข อิ่มอกอิ่มใจ ยิ่งถ้าได้มีโอกาสเป็นเจ้าของนกที่ร้องดีๆด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้มีความสุขใจมากยิ่งขึ้น
        ประเภทของเสียง
            เสียงร้องของนกเขาชวา แบ่งออกเป็น  3  ประเภท คือ
              1. ประเภทนกเสียงเล็ก
              2. ประเภทนกเสียงกลาง
              3. ประเภทนกเสียงใหญ่
การแบ่งประเภทของเสียงนกนั้น เป็นแนวทางในการแยกประเภทการร้องของนกแต่ละตัวว่านกตัวนั้นร้อง เสียงเล็ก เสียงกลาง หรือเสียงใหญ่  และสำหรับการแข่งขัน การแบ่งเสียงนั้นไม่มีอะไรตายตัวแน่นอน เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดว่านกใดเสียงอะไรแน่ เพราะการร้องของนกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามอายุของนก อีกทั้งขนาดความกว้างของเสียงร้องของนกนั้นไม่มีเกณฑ์ที่แน่นอน ว่าร้องเสียงกว้างเท่านี้เป็นเสียงเล็ก หรือเสียงกลาง หรือเสียงใหญ่ ไม่เหมือนกับเอาสิ่งของไปชั่งบนตาชั่ง ซึ่งมีมาตราวัดแน่นอนตายตัว ไม่ว่าจะชั่งที่ตาชั่งเครื่องใดก็ตาม แต่การฟังเสียงนกร้องนั้นขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้ฟัง ประกอบกับผู้ฟังมีพื้นฐาน ความรู้ ประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
        ดังนั้น จึงเป็นที่ถกเถียงกันตลอดเวลา สำหรับผู้นิยมเลี้ยงนกเขาชวาเพื่อแข่งขัน เช่น นกที่ร้องก่ำกึ่งระหว่างเสียงเล็กกับเสียงกลาง(เสียงเล็กเต็ม หรือ เสียงกลางต้นๆ) เมื่อหลายคนฟัง บ้างก็ว่าเสียงเล็ก บ้างก็ว่าเสียงกลาง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การฟังเสียงนกร้องนั้นถ้าจะเรียนรู้ให้ได้รวดเร็ว จะอ่านแต่ตำราอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลอื่น การฝึกการฟังเสียงนกที่ดีที่สุดก็คือที่สนามซ้อม หรือสนามแข่งขัน
        อนึ่ง การจัดการแข่งขันนกเขาชวาเสียง มีการจัดการแข่งขันตลอดปี ซึ่งจัดโดยสมาคมนกเขาชวาเสียงแห่งประเทศไทยหรือจัดโดยชมรมนกเขาชวาเสียงจังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น การจัดการแข่งขันจะตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ สนามแข่งขันที่ได้รับความนิยม และมีนกเข้าแข่งขันมากที่สุดก็คือ การแข่งขันนกเขาชวาเสียงอาเชี่ยน ซึ่งจัดขึ้นที่สนามแข่งขันจังหวัดยะลา ประมาณต้นเดือนมีนาคมของทุกปี มีนกที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ เข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมากประมาณ 1,500 นก
การพิจารณาคำร้องของนก
  การพิจารณาคำร้องในเบื้องต้นของนกเขาชวา จะเล่นกันที่ปลายมาก่อน ไม่ว่าจะเลี้ยงไว้ฟังเล่นหรือเลี้ยงสำหรับแข่งขัน ควรพิจารณาองค์ประกอบ ดังนี้ 
         1. คำปลายคือคำสุดท้ายที่นกเขาชวาเปล่งเสียงออกมา ในการร้อง
  1 คำเช่น ว้าว กะ ระ ตะ โปง คำ "โปง" เรียกว่าปลายนิยม ครับ คำปลายที่นิยมเล่นกันจะต้องเป็นเสียงเหมือนเสียงระฆังดังกังวาน คำปลายที่นิยมกันลักษณะเสียงที่นกร้องออกมาจะเป็น ดังนี้ คือ โกง โปง โมง โวง กง ปง มง วง ปลายนิยมที่มีคะแนนมากและหายากมากที่สุดคือปลายลอย ยาว รองลงมาคือปลายใหญ่  และมีปลายเทียมอีกนะ นักเล่นนกเขาชวาใหม่ ๆ มักแยกไม่ออกว่าปลายนิยมกับปลายเทียมต่างกันอย่างไรด้วย เช่น ว่าว กะ กง กับว๊าว ระ กม ครับ ส่วนนกที่ร้องไม่เปิดปลายนิยมมันจะลงปลายด้วยแม่ กก ครับเช่น ว๊าว กะ ตก, ว๊าว ระ กะ ตก เป็นต้นครับ
          2. คำหน้าคือคำที่นกเขาชวาเปล่งเสียงออกมาเป็นพยางค์แรกในคำร้องนั้น ๆ ครับ เช่น ว๊าว กะ ระ ตะ โปง คำว่า ว๊าว เป็นคำหน้าครับ คำหน้าที่นิยมต้องม้วนยาว เช่น ว๊าว เว่า เว้า ครับ
          3. จังหวะ นกเขาชวานี่มีการนับจังหวะกันสองแบบครับ เช่นนกร้อง ว๊าว-ระ-ตะ-กะ-โปง บางท่านนับพยางค์เรียกว่านก 5 จังหวะ แต่มีผู้รู้หลายท่านบอกเป็นนก 4 จังหวะคือนับจังหวะว่างด้านใน แต่อย่างไรก็ตาม มีกรรมการที่เรารู้จักดีคือ อาจารย์ประกอบ วรรณประเสริฐ ได้เขียนตำราเกี่ยวกับนกเขาชวาไว้หลายเล่ม พร้อมทั้งจัดทำเทปเสียงร้องของนกเขาชวา ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อวงการนกเขาชวาเป็นอย่างยิ่ง ท่านเรียกนกร้องอย่างนี้ว่า นกร้อง 5 พยางค์แต่ 4 จังหวะ การฟังนกร้องก็ต้องอย่าลืมถึง จังหวะใน และจังหวะนอก จะต้องไม่ชิดจนเกินไป หรือ ห่างมากจนเกินไป เหมือนเทปยืด
           4. น้ำเสียงของนกจะต้องมีความกังวาน ยิ่งถ้านกเลี้ยงเพื่อแข่งขันแล้วน้ำเสียงจะต้องดี ไม่อย่างนั้นแล้วจะสู้เขาไม่ได้  (นกเขาชวา.http://www.nokkaochava.com/index.php?lay)
 
อันดับเสียงนกเขาชวาในภาคใต้
                ทางภาคใต้ได้จัดอันดับราคานกเขาไว้ดังนี้ 
๑. นกเสียงใหญ่มีราคาแพงกว่านกเสียงกลาง  และนกเสียงกลางมีราคาแพงกว่านกเสียงเล็ก
ในกรณีที่เป็นนกเสียงดีเหมือน ๆ  กั
๒. นกที่ขันจังหวะช้ามีราคาดีกว่าขันจังหวะธรรมดา  และจังหวัดเร็ว   
๓. นกที่ขันเสียงท้ายกังวานมากมีราคาดีกว่าท้ายกังวานน้อย  และเสียงท้ายยาวที่มีความกังวานดีกว่า เสียงท้ายสั้นที่มีความกังวาน  รวมทั้งเสียงหน้ายาวดีกว่าเสียงหน้าสั้นด้วย
                การหานกเขาชวามาเลี้ยงเพื่อฟังเสียงหรือประกวดประชันกันในสมัยโบราณเป็นไปด้วยความยาก
ลำบากอย่างยิ่ง  เพราะต้องหานกเขาพันธุ์ดีจากป่าลึกของแหล่งนกเขาตามจังหวัดที่ได้ชื่อว่า มีนกเขาพันธุ์ดีด้วยการหานกมาต่อเพื่อให้ได้นกป่าพันธุ์ดีมาเลี้ยง
นอกจากนี้ก็ยังต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับนกป่าที่  “ต่อ”  มาได้  บางครั้งแม้จะได้ใช้เวลาฝึกอยู่นาน
แต่ก็ยังได้เสียงขันไม่ดีสมใจ  ก็ต้องปล่อยให้บินกลับคืนป่าตามเดิม  และตั้งหน้าตั้งตาต่อนกใหม่ต่อไป
(มัลลิกา คณานุรักษ์. 2530, 91)

แหล่งที่มา

http://download.clib.psu.ac.th/datawebclib/exhonline/nokkhao/page10.html

การคัดเลือกและฝึกนกเขาชวาเพื่อแข่งขัน ตำรับอินโดนีเซีย

โดย อิเหนาอินโด

"ลูกนกเขาชวาเสียงทุกตัวไม่ได้มีเสียงดีเสมอไป และไม่ทุกตัวที่จะแข่งได้ตำแหน่งแชมป์เมื่อโตเต็มที่ ลูกนกจากกรงผสมจากฟาร์มดังที่เป็นที่นิยม เป็นลูกจากพ่อแม่ระดับแชมป์ รวมถึงลูกนกจากกรงผสมทั่วไป และผลิตผลจากนักเพาะพันธุ์รายเล็ก ทั้งหมดก็มีน้อยนักที่จะได้เป็นนกระดับแชมป์เมื่อเติบโตขึ้นเต็มที่"
ดังนั้นการเลือกนกเพื่อให้เป็นแชมป์ตั้งแต่เป็นลูกนกอยู่นั้นเป็นเรื่องยาก จะต้องอาศัยโชคและอาศัยองค์ประกอบต่างๆมาพิจารณางานเขียนชิ้นนี้จึงเป็นการแนะวิธีทั่วไปที่ได้สะสมมาจากประสบการณ์ส่วนตัว บางส่วนจาก Fauna Magazineเกี่ยวกับวิธีการเลือกซื้อนก เช่นการดูจากลักษณะภายนอก การดูแล และเตรียมนกเพื่อแข่งตั้งแต่วัยลูกนกจนถึงนกเต็มวัย 


ลูกนกที่อายุไม่เกิน เดือน ไม่มีอะไรบอกได้แน่นอนว่าจะมีคุณภาพเสียงที่ดีเมื่อโตเต็มที่แล้ว มีมากไป ที่เสียงมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อนกอายุมากขึ้น เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หรือเปลี่ยนไปในทางที่เลวลง
จากประสบการณ์ของผู้ที่ศึกษามาเป็นเวลานาน แค่ 10เปอร์เซ็นต์ของลูกนกวัยสี่เดือนมีเสียงคงที่ไปถึงวัยนกที่โตแล้ว เมื่อใช้เวลาสังเกตประมาณ เดือน 



ลูกนกส่วนมากจะมีเสียงเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ เป็นขั้นๆไปและเริ่มจะคงที่เมื่ออายุได้ประมาณ เดือน 
ดังนั้นการตัดสินใจซื้อลูกนกเป็นการยากที่จะหาอะไรมาประกันได้ว่าลูกนกที่เมื่อเติบโตเป็นนกแข่งภายหลัง จะมีสิทธิ์ได้แชมป์จากการแข่งขัน   
ยิ่งไปกว่านั้น การดูลักษณะและท่าทางภายนอกประกอบกับประสบการณ์ที่สั่งสมมา ไม่สามารถใช้เป็นมาตรฐานการวัดเพื่อที่จะตัดสินใจเลือกลูกนกที่เมื่อโตแล้วจะมีเสียงดีหรือไม่ 

ลักษณะเสียงของนกที่จะต้องสังเกตได้แก่
1. ขนาดของเสียง (ใหญ่ เล็ก หรือกลาง ) และจังหวะ (เนิบช้า หรือติดกันเป็นรถไฟ)
2. จังหวะใน เป็นกี่จังหวะ จะหกหรือเจ็ดจังหวะก็ยังยากที่จะกะเกณฑ์ว่าผลสุดท้ายเมื่อนกโตขึ้นจะมีจังหวะอย่างไร สิ่งที่จะพอบอกได้ก็คงจะเป็นแนวทางเท่านั้น 
3. ลักษณะของคำหน้า และปลายนิยม ซึ่งโดยมากจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อนกโตเต็มที่แล้ว ซึ่งต้องฟังให้ดี  หลังจากที่เลือกลูกนกที่คาดว่าจะมีเสียงดีแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องมีการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เพราะว่าถ้าดูแลไม่ถูกหลักอาจจะมีผลต่อคุณภาพเสียง ทำให้เสียงแตกพร่าไม่น่าฟัง เมื่อลูกนกโตขึ้น 


หลักการดูแลลูกนกที่จะต้องยึดและปฏิบัติก็มีดังนี้คือ 
1. ลูกนกจะมีการผลัดขนครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 2.5 เดือน และจะใช้เวลาช่วงหนึ่งเพื่อผลัดขนจนหมดตัว โดยขนจะขึ้นเต็มตัวเมื่ออายุได้ 3.5เดือน ซึ่งลูกนกช่วงที่เปลี่ยนแปลงนี้จะต้องมีการดูแลรักษาให้ดี  ช่วงที่ลูกนกกำลังผลัดขน ผู้เลี้ยงต้องนำลูกนกปล่อยในกรงบินรวมกับลูกนกตัวอื่น ลูกนกช่วงนี้จะมีการร้องเบาๆ ออกเสียงฟรี๊ ฟรี๊บ ขนของลูกนกจะเริ่มขึ้นและร่างกายจะเติบโต และแข็งแรงขึ้น หลังจากนั้นควรนำนกจากกรงบิน แยกเลี้ยงในกรงแข่งเดี่ยว ช่วงนี้นกใกล้จะผลัดขนเสร็จและขนเริ่มเต็มตัว
2. ช่วงที่แยกลูกนกจากพ่อแม่ปล่อยในกรงบิน จะต้องสังเกตดูว่าลูกนกมีการกินอาหารหรือไม่ เนื่องจากลูกนกเมื่อย้ายกรงแล้วจะไม่รู้ว่าจะหากินตรงไหน เนื่องจากภาชนะใส่อาหารเปลี่ยนไป ถ้าลูกนกไม่กินอาหารก็ต้องมีวิธีการช่วยป้อนอาหาร ไม่เช่นนั้นลูกนกอาจขาดอาหารตายได้ 
3. ช่วงที่ลูกนกอายุประมาณ 3.5 เดือน เสียงจะเริ่มเปลี่ยน เหมือนเสียงเริ่มแตกหนุ่ม ช่วงนี้จะมีแนวการเปลี่ยนแปลงบ่งบอกถึงเสียงของลูกนกเปลี่ยนไปเป็นนกโต  ต้องสังเกตว่าขนาดเสียงเปลี่ยนไปอย่างไร จากเล็กไปใหญ่ หรือตรงกันข้าม  หรือสังเกตแนวของจังหวะใน ว่ามีจังหวะมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร แม้แต่จังหวะโดยรวมจากจังหวะเนิบช้าเป็นจังหวะที่เร็ว กระชั้นหรือในทางกลับกันว่าจังหวะเปลี่ยนมาเป็นช้าลงหรือไม่ 
4. ช่วงที่อยู่ในกรงเดี่ยว ลูกนกจะต้องถูกนำไปฝึกแขวนไว้ในระดับชายคาเป็นเวลา ครั้งต่ออาทิตย์ เพื่อให้ลุกนกคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมและไม่ตื่นกลัว หรือแขวนไว้ใกล้บริเวณบ้าน ให้เรียนรู้และรับแดดและลม ช่วงที่เหมาะสมที่สุดก็ประมาณ 16.00 น. กระทั่งอาทิตย์ตกดิน การฝึกเช่นนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป มีการเปลี่ยนจากแขวนบรืเวณบ้าน เริ่มเปลี่ยนไปแขวนที่รอก ขึ้นรอกเตี้ยๆ  
5. หลังจากอายุถึง 3.5เดือนแล้ว อาจนำไปปล่อยกรงบินอีกครั้งหรือเก็บไว้ในกรงแข่งเหมือนเดิมก็ได้ ช่วงนี้ลองฟังเสียงนกซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับสายเลือดของนกเป็นสำคัญ 
ถ้าไม่ดีขึ้นควรจะปล่อยกลับลงกรงบินเพื่อให้นกได้อยู่กับนกตัวอื่น ซึ่งจะทำให้นกมีความกล้าที่จะขันมากขึ้น เมื่ออายุได้สี่เดือนนกจะขันบ่อยครั้งขึ้น หรือมีการโกรกมากขึ้น ช่วงนี้ถ้านกไหนมีแววดีก็จับเข้ามาฝึกในกรงแข่งได้อีกครั้ง 
6. ในช่วงที่ลูกนกอายุได้สี่เดือน เสียงที่แท้จริงของนกจะเริ่มปรากฏให้ฟังบ้าง หรือให้ได้รู้แนวว่าคุณภาพประมาณไหน เมื่ออายุถึง เดือน โดยมากนกที่อายุถึงขั้นนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแนวการร้อง แกนเสียง รวมไปถึงคำหน้าและปลายนิยม บางครั้งจังหวะของนกก็จะเปลี่ยนได้จากจังหวะที่ไพเราะ อาจกลายเป็นจังหวะที่ชิดติดกันเป็นพรืดเหมือนรถไฟ และบางนกเมื่อขันต่อเนื่องกันนานๆก็อาจจะมีอาการกว๊าก หรือปลายสั้นลง และไม่มีปลายที่น่าฟังเหมือนตอนที่ยังเป็นลูกนก บางนกที่เคยมีปลายยาวๆ ก็มีการเปลี่ยนเป็นกุ๊กสั้นๆ หรือกว๊ากไปเลย


 การเลือกลูกนกต้องเอาใจใส่เรื่องการฟังให้ดี ในส่วนของปลายควรจะฟังว่ามีการออกเสียงเหมือนเบรคหรือไม่ ถ้ามีก็หมายความว่านกนี้อาจมีการออกเสียงปลายเป็น กุ๊ก หรือ ปลายสั้น ภายหลัง แต่ในอีกด้านหนึ่ง นกที่มีการออกเสียงปลายเรื่อยๆ และจบลงช้าๆ  นกนั้นเมื่อโตมาอาจจะมีปลายที่ยาว
 อีกอย่างหนึ่งที่ควรพิจารณาก็คือเสียงที่คงที่ เมื่อฟังนกขันไปนานๆจะรู้ถึงความสม่ำเสมอของการอออกเสียงได้เป็นอย่างดี  เสียงของลูกนกจะชัดเจนและดีขึ้นเมื่อตอนเช้าเป็นเวลาประมาณ สามชั่วโมง ซึ่งจะสังเกตได้ถึงแนวการร้อง บางนกจะร้องจากจังหวะหกจังหวะลดลงเหลือแค่5จังหวะ หรือจาก4จังหวะเป็น จังหวะ ส่วนเรื่องของขนาดเสียงก็จะมีการเปลี่ยนแปลงจากเสียงใหญ่ก็อาจจะเป็นเสียงแหบหรือลดขนาดลง หรือไม่ก็จากเสียงที่เคยดังกังวาน กลับค่อยลงหรือไม่ค่อยได้ยิน 


การเทรนนกเพื่อเข้าแข่งขันด้วยการฝึกรอกนก ควรเริ่มฝึกตั้งแต่นกอายุได้ เดือน ดังนี้
1. เริ่มจากการแขวนไว้ที่โคนรอกกับนกอื่น ช่วงเวลาเช้าเป็นเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง สามารถฝึกได้ทั้งที่บ้านและที่สนามจริง ซึ่งจะต้องมีรอกและมีนกอื่นเพื่อสร้างความคุ้นเคย
2.  เมื่อฝึกไปได้สักระยะก็จะสามารถฟังออกว่านกของท่านมีแนวที่ใช้ได้หรือไม่ รวมไปถึงพฤติกรรมของนก ส่วนนี้ก็สำคัญเนื่องจากนกที่ไม่ได้รับการฝึกอาจจะมีนิสัยที่ไม่ชอบรอกก็ได้
3. นอกจากการฝึกรอก การฝึกให้ชินกับการขนย้ายก็สำคัญ เพื่อเพิ่มชั่วโมงบินและประสบการณ์ 
4. เมื่อนกมีชั่วโมงบินที่สูงและพร้อมไปด้วยประสบการณ์ ก็จะเริ่มด้วยการแข่งแบบแขวนราว(piyik hanging) ซึ่งนกก็จะได้คุ้นเคยกับลูกนกอื่นๆที่เข้าแข่ง และนกจะมีความคุ้นเคยกับนกจำนวนมาก


การแข่งลูกนกแบบของอินโดนีเซีย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1.แข่งแบบแขวนราว(piyik hanging)                     


2.แข่งแบบชักครึ่งรอก(piyik 1/2 tiang)


แหล่งที่มา

http://zebra-dove-for-competition.blogspot.com/2012/02/blog-post_05.html

การเลี้ยงนกเขาชวา





           ลูกนกที่ออกจากไข่นานประมาณ ๑/๒ - ๑ วัน จะเริ่มหัดบิน ครั้นเวลาล่วงมานานประมาณ ๒๐ - ๒๕ วัน แม่นกจะเริ่มออกไข่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในระยะนี้พ่อนกจะไล่จิกตีลูกนก โดยปกติประมาณ ๒๐ วัน หลังจากที่ลูกนกออกจากไข่ควรจะแยกเอาลูกนกไปใส่กรงเล็กทันที เป็นการป้องกันพ่อนกที่จะจิกตีลูกนกจนตาย ในระยะแรกที่ลูกนกต้องจากอกพ่อนกแม่นก ลูกนกอาจกินอาหารเองไม่เป็น เจ้าของจะต้องเอาถั่วเขียวบดพอแหลกป้อนให้กิน จนกว่าลูกนกกินอาหารเองได้เอง จึงค่อยนำลูกนกไปปล่อยในกรงใหญ่ เพื่อให้ลูกนกหัดบินออกกำลังประมาณ ๓– ๖ เดือน แล้วจึงค่อนนำมาเลี้ยงในกรงเล็กใหม่ แต่ถ้านกเขาเพศเมียยังไม่ออกไข่ใหม่ เจ้าของก็อาจไม่ต้องแยกลูกนก จากพ่อแม่ก่อนก็ได้ เพียงแต่เจ้าของนก ต้องค่อยหมั่นเติมอาหารจำพวกเมล็ดดอกหญ้าเล็ก ๆ ข้างฟ่างและถั่วเขียวบดในถ้วยอาหารที่อยู่ในกรงเสมอ ๆ อย่าให้ขาด ในช่วงนี้พ่อนกจะเป็นผู้คอยป้อนอาหารให้ลูกนกเอง
           เมื่อลูกนกเริ่มโตขึ้นก็จะต้องเปลี่ยนอาหารเป็นข้าวเปลือกเมล็ดสั้น และให้อาหารเสริมพวกดอกหญ้า ข้าวฟ่าง ข้าวเหนียวดำ ปัจจุบันบางคนก็ให้นกเขากินตั๊กแตนด้วย เป็นการเสริมธาตุนก ทำให้นกมีกำลังขัน แต่ก็ต้องระวังอย่าให้นกกินตั๊กแตนที่มีสีน้ำตาลดำ เพราะทำให้นกเขาตายได้ ตั๊กแตนที่เสริมกำลังควรเป็นตั๊กแตนที่มีสีเขียวตัวอ่อนที่มีลักษณะป้อม ๆโดยต้องเด็ดเขาตั๊กแตนทิ้งให้หมด ให้เลือกแต่ลำตัว และปีกอ่อน ๆ เท่านั้น ให้กินครั้งละ ๓ ตัว เดือนหนึ่งให้กินประมาณ ๒ ครั้ง แต่นกเขาที่แข็งแรงแล้วไม่จำเป็นต้องให้ตั๊กแตนอีก และจะต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ
การเลี้ยงนกเขาไว้ในบ้านเพื่อประดับบ้าน หรือเลี้ยงไว้ฟังเสียงเพื่อความสุขใจ หรือจะเลี้ยงเพื่อเป็นการค้า หรือจะเลี้ยงเพื่ออะไรก็แล้วแต่ ควรจะเลี้ยงมากกว่า ๑ ตัวเสมอ เพราะนกเขาจะได้มีความสุขไม่หงอยเหงา อย่างน้อยที่สุดควรเลี้ยง ๑ คู่ และควรเป็นคู่ต่างเพศจะได้เป็นเพื่อนคู่ขัน ประชันกันแก้เหงา โดยจะเลี้ยงไว้กรงละตัว หรือ ๒ ตัว รวมกันไว้ในกรงค่อนข้างใหญ่ก็ได้
นักเล่นนกทางภาคใต้นิยมเลี้ยงนกเขาชวาแบบฝึกตลอดเวลา พยายามที่จะนำไปโยงตากแดดตอนเช้าก่อนไปทำงาน เพื่อให้นกเขาได้ขันออกเสียงเต็มที่ เหมือนนกที่อยู่ในป่า ยิ่งถ้าเป็นชาวบ้านก็แทบจะหิ้วกรงนกเขาติดตัวตลอดเวลา เวลาไปกรีดยางหรือทำสวนจะเอาไว้กับต้นไม้ใกล้ตัว ทำงานไปฟังเสียงนกเขาขันไปด้วย แม้แต่เวลพักผ่อนจะเข้าร้านน้ำชากาแฟก็ยังหิ้วกรงนกเขาเข้าไปในร้านด้วย วิธีการเช่นนี้ช่วยให้นกเขาเชื่อง ไม่ตื่นกลัวคน ไม่ตกใจง่าย เวลาอยู่ในบ้านก็คอยดีดนิ้วร้องเรียกให้นกเขาขันคูช่วยให้นกเขาคุ้นกับคน
             การแขวนกรงนกเขาให้ถูกที่เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ใดแขวนแล้วนกไม่ชอบ นกเขาจะดิ้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกลัวอะไรสักอย่างหนึ่งก็ได้ สถานที่แขวนกรงนกจะต้องอยู่ห่างจากศัตรูของนกเขา เช่น แมว หนู ตุ๊กแก แมลงสาบ ค้างคาวที่ชอบบินผ่านกรง แม้แต่สถานที่สีฉูดฉาดก็อาจทำให้นกเขาตื่นตกใจได้ ที่ใดแขวนแล้วนกเขาขันบ่อย ๆ ก็ควรจะแขวนไว้ที่นั่นประจำ เพราะจะทำให้ชินต่อสถานที่ นกเขาจะหมดกังวลกับสิ่งหวาดกลัว และถ้ามีสถานที่กว้างขวางพอก็ควรจะแขวนกรงนกเขา ให้มีระยะห่างกันพอสมควร ถ้าห่างกัน ขนาดนกเขามองไม่เห็นซึ่งกันและกันได้ยิ่งดี เพราะนกเขาจะได้ตะเบ็งเสียงดังเต็มที่ เป็นการขันโดยไม่ออมเสียง ทำให้คนฟังได้รู้เสียงขันที่แท้จริงของนกเขานั้น
              สถานที่ที่ดีที่สุด คือ ชายคาบ้านหรือสถานที่ใกล้หน้าต่าง เพราะนกเขาจะได้มองเห็นท้องฟ้า เห็นทิวทัศน์ธรรมชาติ และตัวอาคารของบ้านด้วย ช่วยให้นกเขาเกิดความเคยชินกับบ้าน





แหล่งที่มา

http://www.yalabirdcity.com/geopelia_striata/detail/2